อาการของ “โรคด่างขาว” มีอันตรายอย่างไร เกิดขึ้นได้จากสาเหตุใด และมีวิธีการรักษาหรือไม่ มีคำอธิบายจากคุณหมอโรคผิวหนังมาฝาก
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันก่อนว่า “โรคด่างขาว” คืออะไร โรคนี้ถือเป็นโรคที่มีความผิดปกติของเซลล์สร้างเม็ดสี ของผิวหนังชั้นกำพร้า ซึ่งเป็นผิวหนังชั้นบนสุดของร่างกาย โดยจะพบว่าเซลล์สร้างเม็ดสีมีจำนวนลดลงหรือหายไป สามารถพบได้ราวร้อยละ 0.5-2 ของประชากร พบได้ในทุกเชื้อชาติ ทุกเพศในอัตราการพบเท่าๆ กัน และมักเริ่มมีอาการในช่วงอายุ 10-30 ปี
ปัจจุบันนั้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดได้อย่างไร แต่จากการสันนิษฐานพบว่าอาจเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี เกิดความผิดปกติภายในเซลล์สร้างเม็ดสีที่มีการทำลายตัวเอง เกิดความผิดปกติในกลไกการกำจัดอนุมูลอิสระ และความผิดปกติของสารที่หลั่งจากปลายประสาทมาทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี
ลักษณะการเกิดด่างขาวนั้น โรคจะเกิดขึ้นเองโดยไม่มีอาการ ลักษณะที่เห็นเด่นชัดคือ เป็นผื่น และผื่นที่ขึ้นในตอนแรกจะเป็นสีขาวจาง ขอบเขตไม่ชัด แต่เมื่อเป็นนานขึ้นจะเห็นเป็นสีขาวขอบชัดเจน อาจมีรูปร่างวงกลม วงรี หรืออาจมีหลายวงรวมกันจนเป็นวงใหญ่ที่มีขอบเขตหยักก็ได้ รอยโรคที่เกิดขึ้นนี้สามารถมีขนาดตั้งแต่จุดเล็กไปจนถึงปื้นใหญ่ได้
ทั้งยังพบได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะใบหน้า ริมฝีปาก มือ เท้า ผิวหนังเหนือข้อ นอกจากนี้เส้นขนบริเวณผิวหนังที่เป็นโรคด่างขาวอาจมีสีขาวตามไปด้วย ในบางรายอาจเป็นแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่ในขณะที่บางรายอาจเป็นรอยขาวทั่วตัวจนเหลือสีผิวปกติเพียงบางส่วน
ด้านสุขภาพทั่วไปของผู้ที่เป็นโรคด่างขาวจะปกติดี แต่ในบางรายอาจพบโรคด่างขาวร่วมกับโรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน หรือโรคแพ้ภูมิตนเองบางชนิดได้เช่นกัน
เนื่องด้วย มีโรคผิวหนังหลายชนิดที่มีลักษณะสีขาว ดังนั้น ต้องแยกโรคด่างขาวจากโรคที่มีความผิดปกติของสีผิวอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น โรคเกลื้อน ตกกระขาว และกลากน้ำนม ออกจากกัน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ทำการวินิจฉัยว่ารอยสีขาวที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากสาเหตุใด
สำหรับความรุนแรงและการดำเนินโรคของผู้ที่เป็นจะแตกต่างกันไป บางรายอาจเป็นเฉพาะที่ และคงอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานานโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่บางรายอาจจะมีการลุกลามเร็วในช่วงไม่กี่เดือน และในบางรายก็อาจมีเม็ดสีปกติกลับขึ้นมาเองได้
การรักษาที่สำคัญคือ การหลบเลี่ยงแสงแดด เนื่องจากสีผิวที่ขาวในบริเวณโรคด่างขาวนั้น ไม่สามารถปกป้องตัวเองจากแสงแดดได้ เพราะไม่มีเซลล์สร้างเม็ดสี ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันแสงแดด ดังนั้น ผิวจะไหม้เกรียมได้ง่าย จึงควรใช้ครีมกันแดดที่มีเอสพีเอฟ เบอร์ 15 ขึ้นไป โดยเฉพาะควรทาบริเวณที่ไม่มีเสื้อผ้าปกคลุม
วิธีการที่ทำให้สีผิวมีความปกติจากการเป็นโรคด่างขาว
- การใช้ยา เช่น ยาทาในกลุ่มสเตียรอยด์ ยาทากระตุ้นสีผิว ซึ่งต้องทาและตากแดดในเวลาที่แพทย์กำหนด จะทำให้เหมาะกับผู้ที่เป็นไม่มาก และไม่สะดวกที่จะมาฉายแสง
- การฉายแสงอาทิตย์เทียม (อัลตราไวโอเลต ชนิด เอ และ บี) ซึ่งมีทั้งชนิดฉายเฉพาะที่ และฉายทั้งตัว แต่มีผลข้างเคียงคือ อาจเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนังได้ หากได้รับปริมาณแสงที่มากเกินไป นอกจากนี้ผู้ป่วยต้องเข้ามาฉายแสงสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
- การใช้เลเซอร์ เช่น เอ็กไซเมอร์ เลเซอร์ ซึ่งมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากเครื่องฉายแสงอัลตราไวโอเลตทั่วไป นอกจากนี้ยังมีราคาแพง และต้องเข้ามาฉายอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน
- การปลูกถ่ายเซลล์เม็ดสี โดยทำการลอกผิวหนังบริเวณด่างขาวออก และนำผิวหนังปกติที่มีเซลล์สร้างเม็ดสีมาปลูกแทน วิธีนี้ให้ผลการรักษาที่ดี แต่ทำได้ครั้งละไม่มากและต้องทำซ้ำหลายครั้ง จึงไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นบริเวณกว้าง และจะทำได้ต่อเมื่อตัวโรคไม่ลามแล้ว
- การใช้เครื่องสำอางปกปิดสีผิว เช่น เมคอัพ ผลิตภัณฑ์แทนนิ่ง ซึ่งจะช่วยพรางสี ทำให้เห็นรอยโรคน้อยลง
โรคด่างขาวสามารถหายขาดหรือไม่
คำตอบในการรักษาโรคด่างขาว คือ บางรายหายขาด บางรายไม่หายแต่ดีขึ้น บางรายไม่ตอบสนองต่อการรักษาเลย และบางรายหายแล้วกลับมาเป็นใหม่ แต่ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีการใดก็ตาม ต้องใช้เวลาในการรักษานานหลายเดือนจนถึงเป็นปี อย่างไรก็ตามโรคนี้ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพและไม่สามารถติดต่อไปยังบุคคลข้างเคียงได้
ดังนั้นอาจจะไม่รักษาก็ได้ หากไม่ได้กังวลเรื่องความสวยงาม บางรายอาจกังวลว่าจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังในอนาคต แต่จากข้อมูลการศึกษาล่าสุดพบว่า อัตราการเกิดมะเร็งผิวหนังในผู้ที่เป็นด่างขาวไม่ต่างจากประชากรทั่วไป
หลังจากได้อ่านบทความนี้แล้ว ผู้ที่มีรอยสีขาวตามตัว อาจจะเริ่มกังวลว่าตนเองจะเป็นโรคด่างขาวหรือไม่ จึงแนะนำว่าให้มาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางผิวหนังก่อนจะดีกว่า เพราะบางรายอาจเป็นโรคเกลื้อน ตกกระขาว กลากน้ำนม หรือโรคอื่นที่มีลักษณะคล้ายโรคด่างขาวก็ได้ ซึ่งการรักษาในแต่ละโรคจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง.
ที่มาของข้อมูลโรคด่างขาว โดย นพ.วาสนภ วชิรมน หน่วยผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
พริกไทยดำช่วยรักษาโรคด่างขาวได้
พืชสมุนไพรไทย มีประโยชน์สามารถรักษาโรคได้หลากหลายชนิดด้วยกัน เนื่องจากยาแผนปัจจุบันบางตัวก็สกัดสารมาจากพืชสมุนไพรเช่นเดียวกัน
ผลการวิจัยพบว่า พริกไทยดำช่วยรักษาโรคด่างขาว ซึ่งเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง โดยเซลล์สร้างสีที่ผิวหนังหยุดทำงาน ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นกลายเป็นด่างขาว
นักวิจัยจากวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พบว่า สารไพเพอริน (piperine) ซึ่งทำให้พริกไทยดำมีรสชาติที่เผ็ดร้อน เป็นสารที่ช่วยกระตุ้นให้เซลล์สร้างสีในผิวหนังทำงานได้ดียิ่งขึ้น ในปัจจุบันจะพบคนอังกฤษเป็นโรคด่างขาวในอัตราส่วน 1 ต่อ 100 ต้องใช้ยาจำพวกคอร์ทิโคสเตอรอยด์ส (corticosteroids) ช่วยรักษา และใช้เครื่องฉายแสงเป็นตัวบำบัด ซึ่งเรียกว่า “โฟโต้เทอราพี” เป็นการใช้รังสียูวีกระตุ้นให้เซลล์สร้างสีในผิวหนังทำงานได้ตามปกติ
แต่การใช้ยาคอร์ทิโคสเตอรอยด์สรักษานั้น จะช่วยให้เซลล์สร้างสีกลับมาทำงานได้ไม่ถึง 1 ใน 4 ส่วนการใช้วิธีฉายแสงที่มีรังสียูวี แม้จะทำให้เซลล์สร้างสีกลับมาทำงานได้จริง แต่สีผิวก็จะคล้ำขึ้นเป็นหย่อม ๆ จุด ๆ ไม่น่าดู และยังก่อให้เกิดความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งผิวหนังได้ด้วย
ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจึงทดลองหาวิธีการรักษาในรูปแบบใหม่ ด้วยการศึกษาสารไพเพอรินที่อยู่ในพริกไทยดำ และได้ทดลองใช้กับหนู โดยให้หนูได้รับสารไพเพอรินอย่างเดียว หรือได้รับสารไพเพอรินควบคู่ไปกับการฉายแสงยูวี ปรากฏว่า ทั้งสองวิธีได้ผลดีไม่แตกต่างกัน คือ จะทำให้หนูมีสีผิวกลับมาเป็นปกติอีกครั้งภายใน 6 สัปดาห์ แต่การใช้รังสียูวีควบคู่ไปด้วย จะทำให้สีผิวคล้ำกว่าเดิมเล็กน้อย
นักวิจัยยอมรับว่า การใช้สารไพเพอรินในพริกไทยดำควบคู่ไปกับการฉายแสงยูวี จะช่วยให้ผู้ป่วยเป็นโรคด่างขาวกลับมาเป็นปกติได้เร็วกว่าการใช้วิธีฉายแสงยูวีเพียงอย่างเดียว
อ้างอิง https://www.kasetorganic.com
เคล็ดลับสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
เคล็ดลับสุขภาพดี
เมนูผักเพื่อสุขภาพดี
ปลูกผักกินเอง มีประโยชน์อย่างมากมาย ซึ่งเราสามารถที่จะรู้ได้เลยว่าเราใส่อะไรเข้าไปในดิน น้ำ และผักสามารถดูดสารอะไรเข้าไปในตัวผัก
เคล็ดลับสุขภาพดี
เคล็ดลับ ร่างกาย ฟิต จิตแจ่มใส
เรื่องความเครียดก็เป็นปัญหาหลักสำหรับหญิงสาว ไม่ว่าจะเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน ดูเหมือนว่าเวลาสาวๆ เครียด
สุขภาพเต้านม ทรวงอก
ปรับพฤติกรรมการกิน ลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม
ขึ้นชื่อว่า มะเร็ง ก็ไม่มีใครอยากเป็นและไม่มีใครอยากจะพบเจอ แต่ในยุคปัจจุบันนั้น ความเสี่ยงทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตในแบบประจำวันของสังคมเมือง
เคล็ดลับสุขภาพดี
สเต็มเซลล์กับข้อเข่า ทางเลือกใหม่เพื่อการใช้ชีวิตไม่มีสะดุด
หากโรคอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจทำให้ร่างกายมีความทุกข์ทรมานที่ระบบภายในแล้ว
เคล็ดลับความงาม
Halle Berry haircut backview
Halle Berry are those celebrities that have created some of the most amazing
เคล็ดลับสุขภาพดี
ปวดหัว เพราะใส่หน้ากากอนามัย นานเกินไป
ผู้เขียนเกิดภาวะมึนงงบ่อย ร่วมกับอาการปวดหัวเป็นพักๆ แสบคอ อาการเหล่านี้ในตอนแรกคิดว่าตัวเองเป็นโควิด-19 แต่สืบที่มาที่ไปก็หาเหตุไม่เจอ